วันอาทิตย์ ที่ 20 เม.ย. 2568
#POLLUTION ตรวจพบสารหนู-ตะกั่วปนเปื้อนในแม่น้ำกก ซึ่งไหลผ่านพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย โดยพบว่า ค่าที่ตรวจเกินกว่ามาตรฐานความปลอดภัย ทำให้ประชาชนเสี่ยงได้รับสารพิษสะสมในร่างกาย
.
หลังจากที่แม่น้ำกกมีสีแดงขุ่นผิดปกติและประชาชนริมแม่น้ำกกเริ่มร้องเรียนว่าหลังลงไปเล่นน้ำแล้วมีผื่นคัน สัตว์น้ำก็ยังเริ่มทยอยตายไม่ทราบสาเหตุ ชาวบ้านไม่กล้าลงไปทำกิจกรรม และนำน้ำมาอุปโภคบริโภค ทางหน่วยงานก็ได้เข้าไปเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบ
.
สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำการตรวจวัดคุณภาพลำน้ำกก จำนวน 3 จุด ในเขตตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณชายแดนไทย - พม่า บ้านแก่งตุ๋ม หมู่ที่ 14 บริเวณสะพานมิตรภาพ แม่นาวาง – ท่าตอน และบริเวณบ้านผาใต้
.
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า บริเวณบ้านแก่งตุ้ม จ.เชียงใหม่ ตรวจพบสารหนูสูงถึง 0.026 มก./ลิตร (เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.01 มก./ลิตร) และสารตะกั่ว 0.076 มก./ลิตร (เกินมาตรฐาน 0.05 มก./ลิตร)
.
นอกจากนี้ ก็มีการเก็บตัวอย่างน้ำใน จ.เชียงราย จำนวน 3 จุด พบว่ามีสารหนูเจือปนอยู่เกินค่ามาตรฐานทั้ง 3 จุด หนึ่งในจุดที่เก็บ บริเวณเชิงสะพานแม่ฟ้าหลวง บ้านน้ำลัด ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย พบสารหนูมีปริมาณ 0.012 มก./ลิตร ขณะที่ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.01 มก./ลิตร
.
ซึ่งน้ำที่มีค่าโลหะหนักผลเกินค่ามาตรฐานนี้อาจทำให้ประชาชนที่ใช้น้ำอุปโภค บริโภคมีผื่นคัน ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน รวมทั้ง เสี่ยงต่อการสะสมสารพิษระยะยาว ทางการจึงขอให้ประชาชน ตั้งแต่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และ อ.เมือง อ.เวียงชัย อ.เวียงเชียงรุ้ง อ.แม่จัน จ.เชียงราย งดใช้น้ำจากแม่น้ำกก ล่าสุด เชียงรายก็งดกิจกรรมสงกรานต์ริมแม่น้ำกกแล้ว
.
หากมีอาการผิดปกติ เช่น ผื่น อาเจียน ฯลฯ ให้รีบพบแพทย์ ส่วนกรณีระบบประปานั้นถือว่าได้มาตรฐานสามารถบริโภคได้ตามปกติ
.
ด้านสาเหตุชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะเป็นเพราะการทำเหมืองแร่ทองคำที่ต้นน้ำกกในประเทศเมียนมา จนทำให้มีการปนเปื้อนสารพิษในแม่น้ำ และถ้าสังเกตภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth ปี 2567-2568 ก็พบว่ามีการเปิดหน้าดินแล้ว
.
ทาง Thai PBS รายงานว่า มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ชี้ว่า มีการทำเหมืองทองคำ ริมแม่น้ำกกในเขตเมืองยอน รัฐฉาน ประเทศเมียนมา และขยายตัวมากขึ้น และตอนนี้ก็มีการเหมือง 24 ชั่วโมง ไม่มีการบำบัดทิ้งก่อนลงน้ำ